กองอายุรกรรม
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
BHUMIBOL ADULYADEJ HOSPITAL
Login สำหรับเจ้าหน้าที่ Login | เลือกธีมปกติ เลือกธีมผู้ที่ตาบอดสี | A A A
หน้าแรก/หน่วยงาน/ประวัติ

ประวัติ

ในปี พ.ศ. 2506 แผนกอายุรกรรมได้ปรับขึ้นเป็นกองอายุรกรรม โดยมี ผู้อำนวยการกอง คนแรก คือ พล.อ.ท.น้อย ปาณิกบุตร เรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของกองอายุรกรรมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ได้ถูกถ่ายทอดเป็นบทความโดยอดีตผู้อำนวยการ กองอายุรกรรม ดังนี้

ปี พ.ศ.2528 กองอายุรกรรม เริ่มเปิดอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป จนถึงปัจจุบัน

วิวัฒนาการของกองอายุรกรรม รพ.ภูมิพลอดุลยเดช พอ.

ผมเข้ารับราชการในกองทัพอากาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ถูกบรรจุเข้าเป็นอายุรแพทย์ ขณะนั้นกองอายุรกรรม เป็นเพียงแผนกอายุรกรรม มี น.ต.น้อย ปาณิกบุตร เป็นหัวหน้าแผนก มีอาคาร ผู้ป่วยอยู่ ๓ อาคาร คือ อาคาร ๙ (รับผู้ป่วยชาย) อาคาร ๕ (รับผู้ป่วยหญิงและกุมาร) และอาคาร ๖ ชั้นบน (รับผู้ป่วยชายโรคติดต่อและวัณโรค) กับดูแลผู้ป่วยอาคารพิเศษด้วย

ต่อมา ได้แยกผู้ป่วยเด็กไปเป็นแผนกกุมาร และขยายแผนกอายุรกรรมเป็นกองอายุรกรรม ยังคงมี น.อ.น้อย ปาณิกบุตร เป็นหัวหน้ากองเช่นเดิม และขยายอัตราแพทย์เพิ่มขึ้น

พ.ศ. ๒๕๐๖ รพ.ภูมิพลอดลุยเดช เริ่มเปิดฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัด ผู้ป่วยอายุรกรรมมีมากขึ้น แต่แพทย์กองอายุรกรรมกลับลดลง เพราะลาออกไปมาก มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งเหลือแพทย์ปฏิบัติงานอยู่เพียง ๓ นาย นอกนั้นไปศึกษาต่อบ้าง ถูกย้ายไปราชการต่างจังหวัดบ้าง ต้องผลัดกันดูแลผู้ป่วยชายคนหนึ่ง, หญิงคนหนึ่ง ส่วน ผอ.กอง (น.อ.สนอง ศุขเสงี่ยม) ดูแลผู้ป่วยอาคารพิเศษ ต้องสลับกันออก O.P.D. หญิงและชายคนละ ๑ สัปดาห์ ต้อง round ward ก่อน เป็นอยู่เช่นนี้ราว ๒ เดือน จึงมีแพทย์มาช่วยอีกนายหนึ่ง

พ.ศ. ๒๕๑๒ ย้ายกองอายุรกรรม จากอาคาร ๙ ข้ามไปอยู่ที่อาคารอายุรกรรมชายที่สร้างใหม่ อยู่ระหว่างอาคาร ๕ และอาคาร ๖ สถานที่กว้างขวางรับผู้ป่วยได้มากขึ้น

พ.ศ. ๒๕๑๗ น.อ.อาวุธ สิริกรรณะ เป็น ผอ.กองอายุรกรรม สืบแทน น.อ.สนอง ฯ ได้รับมอบอาคารสลากกินแบ่ง ๓ มาอีกอาคารหนึ่ง ได้เปิดหออภิบาลผู้ป่วยหนักขึ้นที่ชั้นล่างของอาคารนี้ ติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น เช่น ECG Monitor, เครื่องช่วยหายใจ, มีเครื่องอุปกรณ์หลายชิ้น เช่น เครื่องตรวจคลื่นสมอง (E.E.G.) กล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร

พ.ศ. ๒๕๒๐ น.อ.ประพัตรา ตัณฑ์ไพโรจน์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองอายุรกรรม สืบต่อจาก

น.อ. อาวุธ ฯ มีการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่น Echocardiogram, Hemodialytic Machine, Holter ECG. มีแพทย์กลับจากการศึกษาและอบรมจากทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยให้การปฏิบัติงานด้านการแพทย์คล่องตัวมากขึ้น มีการเปิดคลินิคเฉพาะโรคเพิ่มขึ้นหลายคลินิก และเริ่มวางแนวทางอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์

พ.ศ. ๒๕๒๔ น.อ.สุหัท วัฒนพงศ์ ได้มาดำรงตำแหน่ง ผอ.กองอายุรกรรม ต่อจาก พล.อ.ต. ประพัตรา ฯ ซึ่งก็ยังคงช่วยงานด้านการตรวจรักษาและสอนแพทย์ฝึกหัดต่อไป

ผมปฏิบัติงานในฐานะอายุรแพทย์เรื่อยมาจวบจนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ รู้สึกยินดีที่ได้เห็นกองอายุรกรรมก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ ทางด้านอายุรศาสตร์ ต่างกับในสมัยแรกเริ่มที่อายุรแพทย์ทุกนายจะต้องตรวจและรักษาโรคทางอายุรกรรม ทุกสาขาได้

ขอให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
พลอากาศโท ประพัตรา ตัณฑ์ไพโรจน์
อดีตผู้อำนวยการกองอายุรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๔

บทความการพัฒนากองอายุรกรรม

อารัมภบท

เนื่องจากข้าพเจ้า พล.อ.ต.สุหัท วัฒนพงศ์ ได้รับการติดต่อจากคุณหมอสมชาย มีมณี ให้ช่วยเขียนบทความเกี่ยวกับการพัฒนากองอายุรกรรมในช่วงที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่ง ผอ.กองอายุรกรรม เป็นเวลา ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๖- พ.ศ.๒๕๒๙)

  • ๑. ปัญหาโดยส่วนรวม
    • ๑.๑ สถานที่ ในขณะนั้นกองอายุรกรรม ยังอยู่ในอาคารเดิม คือ อาคาร ๙ , อาคาร ๕-๖ อาคารสลากกินแบ่ง ๓ และบางส่วนของอาคาร ๑๐ (เฉพาะผู้ป่วยอายุรกรรม) เนื่องด้วยขณะนั้น อาคารคุ้มเกล้าฯ อยู่ในระหว่างการก่อสร้างทำให้ต้องประสบความไม่สะดวกในการดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปรับการตรวจทางรังสีกรรม เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการที่จะย้ายกองเข้าอยู่ในอาคารคุ้มเกล้าฯ ให้พร้อมด้วย ในเวลาต่อมา ได้รับมอบหมายให้ใช้ ชั้น ๘ ของอาคารคุ้มเกล้าฯ ทั้ง ๔ ปีก คือ ๘/๑ , ๘/๒ , ๘/๓ และ ๘/๔ เพิ่มหอผู้ป่วยอายุรกรรมรวมทั้งอีก ๒ ปีกของชั้น ๗ คือ ๗/๒ และ ๗/๓ ส่วนหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU) นั้นอยู่ชั้น ๓ ประกอบด้วยหออภิบาลผู้ป่วยหนักอายุรกรรม ๑ และ ๒ และหออภิบาลผู้ป่วยโรคหัวใจ (CCU) และได้รับมอบพื้นที่ส่วน ๑ ใน ๔ ให้เป็น Doctor’s Office ซึ่งประกอบด้วยห้องแยกสำหรับผู้บริหาร และแพทย์ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าอายุรกรรมสาขาต่างๆ และยังมีห้องรวมซึ่งแยกเป็นห้องทำงานของฝ่ายธุรการและแพทย์ประจำแผนกต่างๆ และแพทย์ประจำบ้าน
    • ๑.๒ บุคลากร เรื่องบุคลากรเป็นปัญหาใหญ่ของกองอายุรกรรม โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลมีจำนวนไม่พอกับผู้ป่วย รวมทั้งยังขาดแพทย์สาขาต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคทางเดินอาหาร, โรคติดเชื้อ, โรคระบบประสาทวิทยาทางอายุรกรรม, โรคโลหิตวิทยา, โรคปอด, โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิค เป็นต้น นอกจากนั้น ยังขาดอายุรแพทย์ทั่วไป ซึ่งจำเป็นในการออกตรวจโรคผู้ป่วยนอกร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง
    • ๑.๓ เครื่องมือแพทย์ ขณะนั้นกองอายุรกรรมได้ขาดแคลนเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ที่ จำเป็นอย่างมาก เช่น I.C.U. ขาดแคลน Monitor เครื่อง Defibrillator, เครื่องช่วยหายใจ, Infusion pumps ที่มีก็เป็นแบบรีดสาย (Peristalsic type) ซึ่งให้ความแม่นยำน้อย ขาดเครื่องตรวจสมรรถภาพหัวใจ (Cardiac exercise & Stress test) เครื่องตรวจ EEG เครื่องส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร, เครื่อง Ultrasound, เครื่อง ECG (Electrodynamic cardiography or Holters monitor) เครื่อง Echocardiography
  • ๒. แนวทางปฏิบัติและการแก้ไขที่เห็นผล ๒.๑ เกี่ยวกับสถานที่ แม้จะย้ายขึ้นอาคารคุ้มเกล้าฯ แล้ว สถานที่ก็ยังต้องปรับปรุง เช่น ห้องพักแพทย์คงไม่สามารถจัดให้อยู่ในแห่งเดียวใน Doctor’s Office ได้ทั้งหมด ก็ได้จัดส่วนหนึ่งเป็นห้องรวมนั่งได้หลายคน และยังกระจายไปอยู่ตามหอผู้ป่วยต่างๆ และหน่วยตรวจพิเศษ เช่น โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร และประสาทวิทยา เป็นต้น ๒.๒ เกี่ยวกับกำลังพล ปัญหาสำคัญ คือ มีความไม่เข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกกับผู้ป่วยที่มารับการรักษาโดยปกติแพทย์ตอนเช้ามักจะมาตรวจผู้ป่วยใน ในหอผู้ป่วยก่อนแล้วจึงจะออกตรวจผู้ป่วยนอก ทำให้เวลาล่วงเลยไป บางครั้งผู้ป่วยก็บอกว่าหมอมาสาย ซึ่งก็สามารถแก้ปัญหาโดยส่งแพทย์ออกตรวจตามเวลาจำนวนหนึ่งก่อนแล้ว ส่วนที่เหลือค่อยตามไป สำหรับจำนวนแพทย์ก็ขอความร่วมมือจากแพทย์ประจำบ้าน โดยได้จัดทำหลักสูตแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไปขึ้น และขออนุมัติต่อแพทยสภา โดยร่วมกับ รพ.รามาธิบดี ซึ่งโดยวิธีนี้ทำให้เรามีสิ่งดึงดูดแพทย์จบใหม่ให้มาร่วมงานด้วยปีละ ๔-๖ คน ซึ่งแพทย์เหล่านี้จำนวนมากได้รับราชการต่อเป็นแพทย์ทหารอากาศเป็นกำลังส่วนหนึ่งของกองอายุกรรมมาจนทุกวันนี้ สำหรับพยาบาล ได้ปรึกษาหารือขอความร่วมมือกับกองการพยาบาลขอกำลังพลเพิ่มเติม และจัดส่งพยาบาลไปอบรมพยาบาลเฉพาะทาง เป็นหลักสูตรพยาบาลหออภิบาลผู้ป่วยหนัก และหออภิบาลผู้ป่วยโรคหัวใจ จาก ม.มหิดล เป็นต้น ๒.๓ เกี่ยวกับเครื่องมือ ได้ร่วมมือกับ ผอ.รพ.ภูมิพลอดุลยเดช และมูลนิธิคุ้มเกล้าฯ จัดหาเครื่องมือดังกล่าวที่ขาดแคลนมาเพิ่มเติมในลักษณะ จี ทู จี (คือซื้อระหว่างมูลนิธิผู้ผลิต) โดยได้รับเครื่องมือครบชุด เช่น Monitor CPR Units, Automatic Cardiac Compressor, Telemetry, DCG (Holter’s monitor) , EEG, Cardiac exercise and stress test, Respirator, Defibrillators และ Infusion pumps (Volumetric type) ในจำนวนพอเพียงใช้ใน ซี.ซี.ยู. และ หอผู้ป่วย
  • ๓. แผนงานในอนาคตที่วางไว้ ได้มอบหมายให้กับ ผอ.กองคนต่อมา กล่าวโดยกว้างๆ คือ ความเป็นเลิศทางวิชาการและวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ตลอดจนการอลุ่มอล่วยบางครั้ง โดยถือภารกิจของกองเป็นใหญ่
  • ๔. ข้อเสนอแนะ และสิ่งที่อยากให้เป็นในอนาคต อยากเห็นแพทย์นอกจากจะมีความเป็นเลิศทางวิชาการแล้วยังมีอัธยาศัยดี มีจรรยาบรรณที่ดี มี Bedside diagnosis ให้มาก ลดการใช้ไฮเทค ที่มีราคาแพง และสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นลงบ้าง อยากให้ผู้บริหารปลีกเวลาไปดูโรงพยาบาลอื่นกันบ้าง เช่น วิธีใช้ลิฟต์ การจ่ายยา การบริหารงานบุคคล เป็นต้น ตัวอย่างเช่น บาง รพ.จะจัดคนคุมลิฟต์ ถ้าคนขึ้นแค่ ๑-๒ คน เขาจะยังไม่นำลิฟต์ขึ้นเป็นการลดความสิ้นเปลือง และเขาจะใช้ลิฟต์บางตัวไม่ใช้ทุกตัวในแต่ละวัน การจ่ายยาในบาง รพ. เขาจะมีห้องจ่ายยาทุกชั้น และใบเสร็จค่ายาเขาจะใช้เบิกได้เลย ไม่ต้องไปทำใหม่ ช่วยลดเวลาและภาระผู้ป่วยได้มาก

พล.อ.ต.สุหัท วัฒนพงศ์

น.อ.หญิงโอบแก้ว ดาบเพ็ชร

รายงานวิวัฒนาการของกองอายุรกรรม ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๖
(เนื่องในงานสถาปนาครบ ๕๐ ปี ของ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช พอ.ในปี ๒๕๔๑)

ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองอายุรกรรม รพ.ภูมิพลอดุลยเดช พอ. เมื่อ ต.ค. ๒๕๓๕ ถึง ต.ค. ๒๕๓๖ เพียง ๑ ปี เนื่องจากต้องลาไปรับการอบรมเพื่อติดตามสามีซึ่งไปรับตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหารอากาศ ประจำกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี แต่เวลาเพียง ๑ ปีที่ได้มีโอกาสบริหารกองอายุรกรรมนี้ ข้าพเจ้าถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ มีคุณค่าที่ไม่อาจลืมได้เลย

นอกจากงานประจำ เช่น การมอบหมายความรับผิดชอบและควบคุมดูแลให้แพทย์รุ่นน้อง พยาบาล และลูกจ้าง ประมาณร้อยกว่าคน ดูแลรักษาผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก, รับผิดชอบงานจรอื่นๆ นอกโรงพยาบาลแล้วแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งการ และงานดูแลการฝึกสอนอบรมนักเรียนแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านที่หมุนเวียนมาที่กองอายุรกรรมแล้ว งานด้านพัฒนากองอายุรกรรมก็เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่แรก งานนั้นได้แก่

  • งานปรับปรุงเพิ่มขีดความสามารถของกองอายุรกรรม ในด้านการรักษาโรคตามสาขา เป็นที่ทราบดีอยู่ว่า สาขาอายุรศาสตร์นั้นกว้างขวางยิ่งนัก แบ่งออกเป็นสาขาย่อย (Subspecialty) อีกกว่า ๑๐ สาขา เช่น ด้านโรคทางเดินหายใจ, หัวใจ, ไต, ทางเดินอาหาร ฯลฯ

    ถ้าท่านนึกถึงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายว่ามีกี่อย่าง แต่ละสาขาก็มุ่งรักษาแต่ละอวัยวะนั่นเอง ซึ่งฟังดูจะขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทั่วไปอยู่บ้างว่า แพทย์คนหนึ่งจะรักษาผู้ป่วยทั้งตัวมิได้หรือ? ก็ต้องขอเรียนว่า ก็ได้อยู่หรอกสำหรับโรคธรรมดาสามัญที่ไม่ซับซ้อนนัก แต่ถ้าโรคนั้นดำเนินมาถึงที่สุดแล้ว แพทย์คนเดียวไม่อาจรักษาในด้านลึกทุกด้านได้ เพราะเขาจะต้องการเวลาเกินกว่าวันละ ๒๔ ชั่วโมง และสมองคอมพิวเตอร์จึงจะสามารถเรียนรู้และฝึกงานให้เจนจัดในทุกด้านได้ แต่ใครๆ ก็ต้องการให้แพทย์รักษาตัวเขาจนถึงที่สุดที่ขีดความสามารถของวงการแพทย์สมัยใหม่จะทำได้ มิใช่หรือ ? ดังนั้น แพทย์อายุรศาสตร์คนหนึ่งสมควรฝึกงานสาขาย่อยสาขาหนึ่งที่เขาชอบและถนัดในด้านลึก เพื่อช่วยแพทย์อีกคนหนึ่งที่มิได้เรียนลึกในทางนี้หรือเป็น “ที่ปรึกษา” นั่นเอง

    ด้วยเหตุผลอันยืดยาว และด้วยความเห็นชอบของผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ท่านเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศสมัยนั้น (พล.อ.ท.กิตติ เย็นสุดใจ) และท่านผู้อำนวยการ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช พอ. (พล.อ.ต. สญชัย ศิริวรรณบุศย์) ซึ่งได้อนุมัติเงินจำนวนหนึ่งให้จัดตั้งห้องตรวจสวนหัวใจขึ้น (Cardiac Catheterization Laboratory) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาโรคหัวใจ รอรับแพทย์ที่ได้ส่งไปเรียนเพิ่มเติมด้านโรคหัวใจที่สหรัฐอเมริกาอยู่ก่อนแล้ว (โดยทุนคุ้มเกล้าฯ) และเตรียมจัดหาพยาบาลไปดูงานการสวนหัวใจที่ รพ.ทรวงอก นนทบุรี งานด้านสวนหัวใจ (Cardiac catheterization) เป็นการประสานงานและสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจของกองศัลยกรรม รพ.ภูมิพล อดุลยเดช พอ.ที่เริ่มขึ้นในปีต่อมา และผู้บังคับบัญชายังได้ดำริให้ตั้งศูนย์โรคหัวใจต่อมาอีกด้วย งานจัดตั้งห้องสวนหัวใจนี้สำเร็จลงได้ก็เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากแพทย์โรคหัวใจที่มีเพียงไม่กี่คนในสมัยนั้น และพยาบาลที่มีประสบการณ์หลายท่าน จึงต้องขอขอบคุณไว้ในที่นี้ด้วย

  • การฝึกงานของแพทย์ประจำบ้าน สาขาอายุรศาสตร์ เนื่องจากผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นเท่าตัวใน ๗-๘ ปี แพทย์ประจำบ้านที่ฝึกงานพร้อมกับแพทย์อาวุโสต้องรับผิดชอบผู้ป่วยมากขึ้น การออกตรวจดูแลผู้ป่วยและการอยู่เวรอาจบกพร่องได้ ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำจากแพทย์อาวุโสท่านหนึ่ง เห็นสมควรให้เพิ่มจำนวนแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย ตามมาตรฐานของแพทยสภา ข้าพเจ้าจึงดำเนินการหาข้อมูลและเหตุในการขอเพิ่มจำนวนแพทย์ประจำบ้านอีกเท่าตัว (เพราะไม่ได้เคยขออนุมัติเพิ่มเลย ตั้งแต่เริ่มมีแพทย์ประจำบ้านเมื่อ ๗ ปีที่ผ่านมา) ซึ่งแพทยสภาได้อนุมัติเป็นที่เรียบร้อย ทำให้การปฏิบัติงานดูและผู้ป่วยและการฝึกงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    นอกจากงานต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว งานตรวจรักษาผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและมีน้ำใจ รวมทั้งความร่วมมือจากลูกน้องก็ทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจฝ่าอุปสรรคไปได้ ทำให้ ๑ ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว และเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ลืมไม่ลง

น.อ.หญิงโอบแก้ว ดาบเพ็ชร
๒๓ มิ.ย. ๓๙

น.อ.วิศิษฐ์ ดุสิตนานนท์

กองอายุรกรรม - งานพัฒนาที่ไม่เคยหยุด

กองอายุรกรรม ได้เป็นมา กำลังเป็นอยู่ และกำลังจะเป็นต่อไป ด้วยคุณงามความดี และความตั้งใจ อุตสาหะ ของ ผอ.กองอายุรกรรมทุกท่านที่ผ่านมาในอดีต ตลอดทั้งผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น และชาวกองอายุรกรรมทุกท่าน

ผมได้รับแต่งตั้งเป็น ผอ.กองอายุรกรรม นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๖ สืบต่อจาก น.อ.หญิงโอบแก้ว ดาบเพ็ชร ที่ต้องย้ายติดตามสามีไปราชการต่างประเทศ การที่ต้องเข้ารับหน้าที่ตามวาระปกตินั้น ทำให้ผม ตระหนักดีถึงภาระ ความรับผิดชอบมากมาย ทั้งสืบสานงานเก่าและสร้างงานใหม่ เพราะถือเป็นความไว้วางใจและความเมตตาของผู้บังคับบัญชาที่มอบระยะเวลา ๓ ปี ในการบริหารและพัฒนางานของกองอายุรกรรมให้แก่ผม ได้แก่

งานด้านการบริการ
ถือเป็นงานหลักของกองอายุรกรรม ผลของงานการบริการที่เพิ่มพูนเป็นประจำนั้น ทำให้กลไกทุกส่วนของกองอายุรกรรมต้องได้รับการปรับแต่ง เพื่อให้งานทุกด้านบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยดี ทั้งงานวิชาการ การฝึกอบรมและการเรียนการสอน งานบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ ของบุคลากรทุกระดับในกองฯ เพราะจำนวนผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นจนไม่สมดุลย์กับจำนวนแพทย์ที่มีอยู่ แต่ทางกองฯ ก็ได้พยายามแก้ไข ปรับปรุง และประยุกต์ใช้การบริหารกำลังพล เพื่อตอบสนองนโยบายของผู้บังคับบัญชาที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้มาใช้บริการ งานจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจ ได้รับการสานต่อจนสำเร็จและมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อ ก.ย.๒๕๓๘ เป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งต่อการบริการและการเรียนการสอน ถือเป็นหน้าตาของกองอายุรกรรม งานจัดตั้งหน่วย RCU (Respiratory Care Units) เพื่อการดูแลเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยการปรับปรุงสถานที่จากพื้นที่บางส่วนของวอร์ด ๘/๑ การเปิดบริการผู้ป่วยนอก วี.ไอ.พี. สำหรับผู้มีอุปการคุณ เพื่ออำนวยความสะดวกให้มากขึ้น นอกจากนั้นทางกองฯ พยายามสนับสนุนให้หน่วยต่างๆ พัฒนาปรับปรุงการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

งานด้านวิชาการ
แม้งานด้านบริการจะมีอยู่อย่างมากมาย แต่ทางกองฯ ก็เน้นและให้การสนับสนุนเต็มที่ในการศึกษา ค้นคว้า และการวิจัย ผู้แทนกองฯ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ในหน่วยต่างๆ ได้รับเชิญและเข้าร่วมในการประชุมวิชาการในชมรม และสมาคมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ บางท่านได้รับเป็นวิทยากรในที่ประชุม

การประชุมวิชาการต่างๆ ทั้งในระดับกองฯ ระดับโรงพยาบาล ระหว่างโรงพยาบาลและการประชุมของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ล้วนอาศัยบทบาทของแพทย์ในหน่วยต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องสอดประสานกับงานบริการอันเป็นภารกิจหลัก เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ของภารกิจหลัก จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของ ผอ.กองอายุรกรรม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน งานด้านการเรียนการสอน ทางกองอายุรกรรม ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตร Medical education มีผลทำให้การเรียน การสอน การออกข้อสอบดีขึ้น ถูกหลักเกณฑ์และทันสมัย และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นโดยตรง มีหน้าที่ดูแลการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ การทำข้อสอบและการเก็บข้อสอบเข้าธนาคารของกองฯ การออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และประเมินผลอย่างถูกต้อง ทางด้านการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ทางกองฯ ได้ตั้งกรรมการดูแลแพทย์ประจำบ้าน มีหน้าที่ดูแล คัดเลือก จัดการสอบ และดำเนินการอบรมตามระเบียบของแพทยสภา การฝึกอบรมนี้นับว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี มีจำนวนผู้ป่วยเพียงพอ และกว้างพอที่จะช่วยให้แพทย์ประจำบ้านที่ผ่านการอบรม ๓ ปี แล้วมีความรู้ความชำนาญ รอบรู้ทุกระบบเหมาะสมสำหรับบำบัดรักษาโรคทางอายุรกรรม จึงมีผู้สำเร็จการฝึกอบรมและสามารถสอบผ่านได้ทุกคนจากอดีตถึงปัจจุบัน รวม ๙ รุ่น นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ และในในปี ๒๕๓๙ กองอายุรกรรม รพ.ภูมิพลอดุลยเดช พอ. ก็ได้รับเกียรติเป็นสนามสอบบอร์ดทางอายุรศาสตร์ของแพทยสภา การอบรมนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านของกองฯ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา และมีการประเมินผลเป็นระยะๆ

งานพิเศษอื่นๆ
และงานสนองนโยบายผู้บังคับบัญชา มีอยู่เป็นระยะๆ ส่วนมากเป็นไปในแนวพัฒนาการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และการทำงานประสานกับระดับกองทัพ งานที่ถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นเกียรติอย่างสูงแก่กองอายุรกรรม คือ สืบเนื่องจากที่ศาสตราจารย์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงไว้วางพระทัยให้แพทย์ของกองอายุรกรรม ร่วมเป็นแพทย์ผู้ถวายการดูแลในการเสด็จพระดำเนินตามที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นจำนวนหลายครั้ง ในการนี้มีแพทย์กองอายุรกรรมเข้าร่วมภารกิจสำคัญ ๒ ท่าน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ แก่กองอายุรกรรม

ตลอดช่วงเวลา ๓ ปี
ของการปฏิบัติงานในตำแหน่ง ผอ.กองอายุรกรรม สิ่งที่ผมเน้นและยึดถือเป็นแนวทางตลอดมา คือ การสร้างความร่วมมือ ร่วมใจ ความสามัคคี การสร้างขวัญ และกำลังใจ ของผู้ใต้บังคับบัญชา แม้เราจะมีปัญหาจากจำนวนบุคลากรที่มีอยู่เกือบตลอดเวลา จากแพทย์หลายท่านต้องสลับหมุนเวียนไปศึกษาต่อ หรือย้ายไปต่างจังหวัด แต่อุป1สรรคและปัญหาต่างๆ ก็ผ่านไปด้วยความเสียสละของทุกฝ่าย อนาคตของกองอายุรกรรมจึงอยู่ในมือของชาวอายุรกรรมทุกท่าน ที่จะช่วยกันจรรโลงกองอายุรกรรมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป โดยมีการบริการ การสอน และการวิจัยที่ดีเด่น ผสมกลมกลืน กันอย่างเหมาะสมนั่นเอง

น.อ.วิศิษฐ์ ดุสิตนานนท์
ก.ย. ๒๕๓๙