ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง
ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จัดตั้งขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 โดยได้รับการรับรองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขให้จัดตั้งเป็น ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งระดับตติยภูมิ (Excellence center) โดยมีจุดมุ่งหมายคือ
1. ติดตามดูแลวิธีการรักษาโรคมะเร็งทุกระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาของประเทศ
1.1 ด้านการแนวทางรักษา โรคมะเร็งทั่วไปไม่ซับซ้อน
ศูนย์มะเร็งปฏิบัติตามแนวทางการรักษามะเร็งตามคู่มือแนวทางการรักษาโรคมะเร็งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ชมรมศัลยแพทย์มะเร็งแห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ชมรมโรคมะเร็งเด็กแห่งประเทศไทย และติดตามข้อมูลการรักษาจากต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอโดยทุกครั้งที่มีการประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการปรับปรุงการรักษา ศูนย์มะเร็งจะส่งตัวแทนร่วมประชุมและนำข้อมูลมาถ่ายทอดต่อให้ผู้เกี่ยวข้อง และควบคุมแนวทางการรักษาโดยเก็บตัวชี้วัดในรูปแบบอัตราการรอดชีวิต ตัวชี้วัดเฉพาะในการรักษาทั้งด้านการผ่าตัด รังสีรักษา รวมถึงยาเคมีบำบัด
1.2 ด้านการแนวทางรักษา โรคมะเร็งซับซ้อน
ศูนย์มะเร็งมีการจัดประชุม tumor board ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 12.00 น. โดยมีแพทย์สหสาขาเข้าร่วมประชุม เพื่อให้ความเห็นและวางแผนแนวทางการตรวจวินิจฉัย การรักษา ในกรณีผู้ป่วยมะเร็งซับซ้อน กรณีที่ประชุมให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องส่งเคสผู้ป่วยปรึกษาข้ามแผนกเช่นจากทีมศัลยแพทย์ ส่งปรึกษาทีมอายุรแพทย์มะเร็งเพื่อให้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด (neoadjuvant chemotherapy) ตัวแทนแพทย์ผู้เข้าร่วมประชุมในวันนั้นๆ จะช่วยรับดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องให้ทันที ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งซับซ้อนได้พบแพทย์เฉพาะทางรวดเร็วมากขึ้น
2. กำหนดมาตรฐานและระบบการจัดการเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม และบุคลากร ที่ให้การดูแลรักษา
ศูนย์มะเร็งเป็นผู้กำหนดมาตรฐานแนวทางการให้ยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาล โดยการจัดทำวิธีปฏิบัติงานเรื่อง การให้ยาเคมีบำบัด มีการจัดอบรมพยาบาลเคมีบำบัด และกำหนดแนวทางการดูแลกรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์จากการให้ยาเคมีบำบัด โดยได้จัดการอบรมพยาบาลเคมีบำบัดไปแล้ว 4 รุ่น รุ่นล่าสุดปี 2562 จำนวนพยาบาลที่เข้ารับการอบรม 150 คน
3. ติดตามผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ตลอดจนปัญหาการบริหารจัดการ เพื่อนำมาเป็นโอกาสปรับปรุงและพัฒนาให้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น
4. ดูแลปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพตามความเหมาะสม
5. วิเคราะห์หาแนวทางปฏิบัติเพื่อลดค่าใช้จ่ายของทั้งผู้ป่วยและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
พันธกิจ
ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลโรคมะเร็ง มีหน้าที่กำหนดแนวทางการวินิจฉัย การรักษา การฟื้นฟู แบบองค์รวมที่มีคุณภาพ ขับเคลื่อนและพัฒนาการรักษา ให้ทันสมัย เหมาะสม ได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยทีมสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาล ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ผู้รับบริการมีความปลอดภัยและพึงพอใจ ผู้ให้บริการมีขวัญกำลังใจ สร้างเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ส่งเสริมงานวิจัยทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
ขอบเขตการให้บริการ และศักยภาพ
ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกระบบ ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ทั้งที่เป็นข้าราชการกองทัพอากาศ ครอบครัว และ ประชาชนทั่วไป รวมถึงเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งในเขตกรุงเทพตอนเหนือ ครอบคลุมถึงจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา รวมถึงรับส่งต่อจากจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ มีศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคดังนี้
1. การตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา การตรวจชิ้นเนื้อ การตรวจความผิดปกติในระดับโมเลกุล (Advance molecular genetic testing) โดยพยาธิแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะระบบ
2. ด้านรังสีวินิจฉัย สามารถตรวจคัดกรองและวินิจฉัยระยะของโรคมะเร็งทุกอวัยวะ ด้วยเครื่องมือทางรังสีที่มีความซับซ้อนและทันสมัย โดยบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง
3. ด้านการผ่าตัด มีเครื่องมือที่สามารถทำการตรวจและการผ่าตัดเฉพาะทางที่ซับซ้อน มีศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมทุกระบบ และมีศัลยแพทย์เฉพาะโรคมะเร็ง ตลอดจนมีห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน วิสัญญีแพทย์ และ วิสัญญีพยาบาลเฉพาะทาง
4. ด้านเคมีบำบัด สามารถให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่ซับซ้อน ทั้งในผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็ก มีการให้การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted therapy) และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยอายุรแพทย์โรคมะเร็งและโลหิตวิทยา มีห้องผสมยาเคมีบำบัดที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อบุคลากรและสิ่งแวดล้อม มีการบริการทั้งในหอผู้ป่วยในและ Day care unit มีพยาบาลเฉพาะทางที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง หรือหลักสูตรการพยาบาลผู้ป่วยเคมีบำบัด
5. ด้านการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา สามารถทำหัตถการการตรวจรักษาโรคมะเร็งทั้งแบบ Vascular และ non vascular intervention ร่วมกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือการตรวจทางรังสีวิทยาที่มีเทคโนโลยีซับซ้อน โดยรังสีแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางสูง
6. ด้านรังสีรักษา สามารถให้การรักษารังสีระยะไกลด้วยเทคนิคที่มีความซับซ้อน เช่น การรักษาด้วยรังสี 3 มิติ (3D Conformal Radiation Therapy: 3DCRT) การรักษาด้วยรังสีปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy: IMRT) ให้การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้และไกล ทั้ง 2 และ 3 มิติ (2D and 3D Brachytherapy) โดยสหสาขาวิชาชีพเฉพาะทาง ได้แก่ แพทย์รังสีรักษา นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิคที่ผ่านการอบรมหรือนิเทศงานด้านรังสีรักษา พยาบาลรังสีรักษา
7. ด้านอื่นๆ สามารถให้การดูแลผู้ป่วยร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพที่ครบถ้วน ได้แก่ หน่วยโภชนบำบัด เวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยตรวจการได้ยินและฝึกพูด หน่วยทันตกรรม จิตเวช Palliative care และหน่วยเยี่ยมบ้าน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ยังมีข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ ยังขาดการให้การรักษาโรคมะเร็งที่มีความซับซ้อนสูงมาก เช่น การเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ การรักษาด้านรังสีปรับวิถี (Image Guided Radiation Therapy: IGRT) การรักษาด้วยโปรตอน หรือรังสีอนุภาค ซึ่งจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางสูง และใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีการลงทุนสูงมาก ซึ่งคงเป็นแนวทางการพัฒนาในอนาคตต่อไป